header.html


สมัครสมาชิก

มูลนิธิประเทศสีเขียว
โครงการประเทศสีเขียว
โครงการประเทศสีเขียว
โครงการธนาคารต้นไม้โลก
โครงการออมทรัพย์สีเขียว
GSP โครงการออมทรัพย์สีเขียว
บริษัท ดินดีน้ำใส จำกัด
A.B.N.INTER
พสุธาแพลนติ้ง
โครงการการศึกษาสีเขียว สู่มาตรฐานสากลอาเซี่ยน 2016(Green Education Project for ASEAN Community 2016)
ต้นเงินเศร
QR Code โครงการประเทศสีเขียว
QR Code โครงการประเทศสีเขียว


กระถินยักษ์ Leucaena leucocepphala (Lam.) de Wit

ลักษณะทั่วไป

ไม้กระถินยักษ์ เป็นไม้ตระกูลถั่วที่มีความสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้โดยปมของไรโซเบียม ซึ่งมีขนาด
เส้นผ่าศูนย์กลาง1.5-2.5 มิลลิเมตร โดยในรากขนาดเล็กหรือรากฝอย จะมีเชื้อราไมโครไรซ่าอยู่รวมกับระบบราก
ช่วยให้ต้นกระถินยักษ์ได้ฟอสฟอรัสและธาตุอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นได้มากขึ้น

ไม้กระถินยักษ์ มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์เป็นไม้ยืนต้น บางสายพันธุ์เป็นไม้พุ่ม เนื่องจากกระถินยักษ์
สามารถกระจายพันธุ์ได้กว้างขวาง จึงมีความแตกต่างกันอย่างมากมายในเรื่องขนาดและรูปร่าง อาจจำแนกพันธุ์
กระถินยักษ์ออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ

1. พันธุ์ฮาวาย เป็นพันธุ์ไม้พุ่มเตี้ย สูงประมาณ 5 เมตร ออกดอกขณะที่ต้นยังอ่อน ออกดอกตลอดปีมากกว่าจะออกเป็นฤดู

2. พันธุ์ซัลวาเดอร์ เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 20 เมตร มีใบ ฝักและเมล็ดใหญ่ ดก ลำต้นเดียว ไม่มีกิ่งก้าน ออกดอก
    ไม่สม่ำเสมอและฤดูที่แน่นอน โดยจะให้ดอกนาน ๆ ครั้ง อาจเรียกว่าพันธุ์กัวเตมาลาหรือกระถินยักษ์ฮาวาย

3. พันธุ์เปรู เป็นต้นไม้สูง 15 เมตร คล้ายพันธุ์ซัลวาเดอร์ แต่มีกิ่งก้านใหญ่ตรงส่วนล่างของลำต้น ลำต้นขนาดเล็ก
    และให้ปริมาณใบตามกิ่งก้านสูงมาก การออกดอกจะให้ดอกนาน ๆ ครั้ง

โดยทั่วไปไม้กระถินยักษ์มีลักษณะดังนี้

ลำต้น ไม้กระถินยักษ์ เป็นไม้ขนาดกลาง มีลำต้นเรียบ เปลือกบางสีเทาปนน้ำตาลแดง

ใบ ใบประกอบและมีใบตลอดปี ใบย่อยแตกออกจากก้านใบ 3-10 คู่ ใบย่อย 5-20 คู่
ใบรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมทำมุมกว้าง ไม่มีขน
ดอก ดอกมีสีขาว เกิดรวมเป็นจุก เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาล ช่อดอกหนึ่ง ๆ จะมีฝักประมาณ 15-20 ฝัก
ออกดอกในช่วงเดือนมกราคมและฟักจะแก่ในช่วงกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม
เมล็ด ฝักเกิดเป็นกลุ่ม ๆ มีลักษณะบาง ๆ แบนและตรง มีสีเขียวเข้มและกลายเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาลเมื่อแก่เต็มที่
ฝักมีความกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร ในฝักแก่จะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 15-30 เมล็ด
เมล็ดสีน้ำตาลเมื่อแก่ รูปร่างแบนรี กว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีความหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร

ลักษณะเนื้อไม กระพี้มีสีจางกว่าส่วนที่เป็นแก่น เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อนจนถึงสีน้ำตาลอ่อน เสี้ยนตรง
เนื้อไม้ค่อนข้างแข็ง ความถ่วงจำเพาะ 0.52 มีความชื้น 15%

ถิ่นกำเนิด กระถินบางพันธ์มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง บางพันธ์ได้แพร่หลายกระจายอย่างกว้างขวาง
ทั่วท้องที่นับเป็นพันปีมาแล้ว กระถินยักษ์ได้แพร่ไปถึงประเทศฟิลิปปินส์ โดยอาจนำไปในรูปอาหารสัตว์
ต่อมาประชาชนในท้องถิ่นได้เรียนรู้ว่าไม้สามารถใช้ทำฟืนได้ดี และชาวบ้านได้พบว่าต้นกาแฟ โกโก้
พริกไทย วนิลา และพืชอื่น ๆที่ต้องการร่มเงาสามารถเจริญเติบโตได้ดีภายใต้ร่มเงาของกระถิน ซึ่งก็ได้ถูกแนะนำ
ไปปลูกในสวนที่อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกีนี มาเลเซีย และประเทศอื่น ๆ ในประเทศไทยนำเข้ามาปลูกอย่างแพร่หลาย
ในระยะ 20 กว่าปีที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าเป็นไม้ที่เจริญเติบโตเร็ว

ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

ไม้กระถินยักษ์มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี แม้ในที่มีความแห้งแล้งหรือพื้นที่มีน้ำท่วมเป็นระยะ
ก็สามารถขึ้นได้ แต่การเจริญได้ดีในที่สูงไม่เกิน 500 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และบริเวณที่มีฝนตก
ประมาณ 600-1,700 ม.ม./ปี ขึ้นได้ดีในดินที่เป็นหินปูน สภาพความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ควรเป็นกลางหรือมี
pH ตั้งแต่ 5.5 ขึ้นไป

การขยายพันธุ์

การสืบพันธุ์ของกระถินยักษ์ สามารถสืบพันธุ์ได้ทั้ง 2 แบบ คือ การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ และการสืบพันธุ์แบบ
ไม่อาศัยเพศ
การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เป็นการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ซึ่งนิยมมากที่สุดและใช้กันอย่างแพร่หลายในการปลูก
สร้างสวนป่า เนื่องจากขยายพันธุ์ได้ง่าย เหมาะสมแก่การปฏิบัติ ราคาไม่แพง พืชที่เกิดจากเมล็ดมีอายุยืนนาน
เมล็ดที่เก็บในสถานที่เหมาะสมจะเก็บไว้ได้หลายปี นำไปเพาะปลูกได้ในฤดูกาลต่อไปได้ เมล็ดที่สมบูรณ์จะไม่มี
การงอกเมื่อได้รับปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการงอกก็สามารถงอกได้ภายใน 5-7 วัน แต่การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด
มีข้อจำกัดบ้าง เช่น มีความผันแปรกับลักษณะภายนอกมาก ทั้งในด้านความสูง ความโตถึงแม้จะเก็บจากต้นเดียวกัน
เนื่องจากกระถินยักษ์มักจะผสมพันธุ์กันภายในต้นเดียวกัน แต่ถ้าผสมแบบเปิด ความผันแปรจะมีมากขึ้น จากการทดลอง
การงอกของเมล็ดที่ศูนย์วิจัยและจัดการเมล็ดพันธุ์ไม้ป่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น โดยตัดขอบ
ของเมล็ดเล็กน้อยจากเมล็ดที่เก็บจากฝักที่เปิดอ้า ฝักสีน้ำตาลและฝักที่ยังมีสีเขียว พบว่า เปอร์เซ็นต์การงอก
81.25, 65.75 และ 64.25 ตามลำดับ แต่วิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุดคือการแช่ในน้ำเดือด 10-20 นาที ก่อนนำไปเพาะ

การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การโน้มกิ่ง การตอน การต่อกิ่ง การติดตา การปักชำ
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การแตกหน่อ เป็นต้น จากการทดลองในประเทศจีน โดยใช้กิ่งจากหน่ออ่อนติดใบ อายุยังน้อย
ปักชำ โดยฉีดสเปรย์น้ำเป็นเวลา จะให้เปอร์เซ็นต์การติดรากสูง เช่น ใช้กิ่งหรือแขนงจากหน่ออ่อนที่มีใบติด
อายุ 1 ปี ปักชำ เปอร์เซ็นต์การติดราก 100% ใช้กิ่งหรือแขนงที่มีใบติดไม่ใช่ส่วนของหน่ออ่อน เปอร์เซ็นต์
การติดราก 97% และใช้กิ่งที่ไม่มีใบติด ไม่ใช่ส่วนของหน่ออ่อน เปอร์เซ็นต์การติดราก 52% แต่ถ้าใช้กิ่งหรือแขนง
อายุ 3 ปีแล้ว เปอร์เซ็นต์การติดรากจะลดลง คือ ใช้กิ่งหรือแขนงจากหน่ออ่อนที่มีใบติด อายุ 3 ปี เปอร์เซ็นต์
ติดราก 50% ใช้กิ่งหรือแขนงที่มีใบติด แต่ไม่ใช่ส่วนของหน่ออ่อน ติดราก 37% และใช้กิ่งไม่มีใบติด ไม่ติดราก

ในประเทศอินโดนีเซีย ทดลองปลูกกระถินยักษ์โดยใช้เหง้า โดยถอนกระถินยักษ์อายุ 5 เดือน จากแปลงเพาะที่มี
ระยะห่างระหว่างต้น 5x5 เซนติเมตร มาเก็บรักษาไว้ในถุงที่เปียกชื้นเป็นเวลา 0, 3, 7, 10 และ 15 วัน ก่อนนำไปปลูก
โดยไม่มีการตกแต่งหรือตัดรากดีก่อนนำไปปลูก อัตราการรอดตายเมื่อปลูกได้ 5 สัปดาห์ และ 6 เดือนในฤดูฝน
ไม่มีผลแตกต่างกัน

การขยายพันธุ์โดยการตัดให้แตกหน่อ เป็นระบบวนวัฒน์วิธีที่ใช้หลักการขยายพันธุ์ โดยไม่ต้องอาศัยเพศอีกวิธีหนึ่ง
เพื่อให้แตกหน่อจากรากหรือตอหน่อที่เกิดใหม่ จะเกิดจากตาที่ฟักตัวหรือตาพิเศษที่อยู่ตามคอราก หน่อที่เกิดจากตอ
จะมีขนาดเท่า ๆ กัน ต้องทำการตัดหน่อที่ไม่ดีออกให้เหลือหน่อที่ดีเพียง 2-3 หน่อต่อตอ เพื่อลดการแก่งแย่งอาหาร
กระถินยักษ์ที่เกิดจากการแตกหน่อมักจะมีรอบตัดฟันสั้นกว่ากระถินยักษ์ที่เกิดจากเมล็ด

จากการศึกษาในประเทศอินเดีย กระถินยักษ์อายุ 2 ปี ถูกไฟไหม้ แล้วทำการตัดให้แตกหน่อชิดพื้นดินใหม่ จำนวนต้น
ที่ถูกไฟไหม้ 78 ต้น สามารถแตกหน่อใหม่ 69 ต้น จำนวนหน่อที่แตกใหม่เฉลี่ย 2.98 หน่อ/ตอ ความสูงของหน่อ
และเส้นผ่าศูนย์กลางของหน่อที่ระดับชิดตอ เมื่ออายุ 6 เดือน คือ 2.94 เมตร และ 1.69 เซนติเมตร และเมื่ออายุ 1 ปี
ได้ความสูงของหน่อและเส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับชิดตอ 4.40 เมตร และ 3.36 เซนติเมตร ตามลำดับ

ความสามารถในการแตกหน่อขึ้นอยู่กับอายุหรือขนาดของตอ ฤดูกาลตัดฟัน ความสูง และลักษณะของตอเป็นสำคัญ
ต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ความสามารถในการแตกหน่อจะลดลง จากการทดลองการแตกหน่อของกระถินยักษ์ที่ศูนย์วิจัย
และจัดการเมล็ดพันธุ์ไม้ป่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น กระถินยักษ์อายุ 3 ปี ระยะปลูก 4x4 เมตร
ตัดจำนวน 2 แปลง ๆ ละ 25 ต้น ตัดตอสูงจากพื้นดิน 20 เซนติเมตร ปรากฏว่า ทุกตอมีหน่อเกิดขึ้นในระยะเวลา 7 วัน
จำนวนหน่อเฉลี่ย 18.14 หน่อ/ตอ มีอัตราการเจริญเติบโตทางความสูงน้อยมากในระยะแรก ในระยะเวลา 1 ปี มีความสูง
เฉลี่ย 218.88 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยที่ระดับชิดตอ 1.57 เซนติเมตร สวนป่าห้วยระบำ จังหวัดอุทัยธานี
แปลงที่มีระยะปลูก 2x2, 3x3 และ 4x4 เมตร ปรากฏว่า มีจำนวนหน่อเฉลี่ย 4.16, 5.4 และ 5.04 หน่อ/ตอ ตามลำดับ
มีความสูงเฉลี่ย 392.31, 471.63 และ 526.88 เซนติเมตร ตามลำดับ เส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับชิดตอ 2.35, 2.99
และ 3.68 เซนติเมตร ตามลำดับ จากการทดลองจะเห็นได้ว่า ระยะปลูกที่ชิดกัน จะมีจำนวนหน่อและอัตราการเจริญ
เติบโตที่ต่ำกว่าระยะปลูกที่ห่างกว่า อัตราการเจริญเติบโตทางด้านความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางหลังจากตัด
ไม้ 6 เดือนแล้ว จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การเตรียมกล้าไม้สำหรับปลูก

การเตรียมกล้าไม้กระถินยักษ์โดยการเพาะเมล็ด นิยมปฏิบัติโดยการนำเมล็ดเพาะในแปลงเพาะ แล้วย้ายลงในถุงชำ
ขนาด 4”x 6” ที่บรรจุดินร่วนไว้หรือใช้เมล็ดที่แช่ในน้ำร้อน 10-20 นาที แล้วหยอดลงในถุงพลาสติก โดยใช้เมล็ด
ถุงละ 2 เมล็ด เมื่อเมล็ดงอกแล้วถุงใดมีเมล็ดงอก 2 ต้น ก็ถอนออก 1 ต้นไปชำในถุงที่ไม่ขึ้น กระถินยักษ์จะงอกภายใน
3-7 วัน เลี้ยงกล้าไว้ในถุงพลาสติกประมาณ 3-4 เดือนจึงย้ายปลูก ปัจจุบันสวนป่ามีการปลูกแบบเปลือยรากกันมากขึ้น
เนื่องจากทุ่นค่าใช้จ่ายและง่ายต่อการนำไปปลูก มีวิธีการโดยเพาะเมล็ดในแปลงเพาะที่เตรียมดินไว้แล้ว เมื่อเมล็ดงอก
ก็บำรุงรักษา รดน้ำ ใส่ปุ๋ย โดยใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ละลายน้ำรดทิ้งไว้ 6 เดือน กล้าจากแปลงก็สามารถถอนเปลือยราก
ใช้มีดตัดลำต้น ส่วนยอดออกให้เหลือความยาวของรากและลำต้นประมาณ 10-12 นิ้ว เมื่อนำไปปลูกติดแล้ว กระถินยักษ์
จะแตกยอดใหม่และมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว

การเตรียมพื้นที่ปลูก

กระถินยักษ์สามารถขึ้นได้ดีในดินที่เป็นกลางหรือดินที่มีหินปูน ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางต่ำกว่า 500 เมตร
ลงมา การเลือกพื้นที่ปลูกควรคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้เป็นลำดับแรก สำหรับการเตรียมพื้นที่ปลูกนั้น ต้องทำการเก็บริบ
เผาริบ ให้พื้นที่เหมาะและสะดวกการปลูก อาจใช้แทรกเตอร์เตรียมพื้นที่ปลูกโดยไถกลบ จากนั้นก็วางแนวระยะปลูก
ตามวัตถุประสงค์ โดยใช้หลักไม้ไผ่ขนาดยาว 0.60-1 เมตร ปักเป็นระยะตามความต้องการ หลักนี้ใช้ยึดกับต้น
กระถินยักษ์เพื่อกันลมได้ด้วย

การปลูกและระยะปลูก

การปลูกโดยปกติใช้ฝังต้นไม้ให้ลึกลงไปถึงคอราก โดยให้คอรากนั้นอยู่ใต้ระดับพื้นที่ของระดับนั้น หรือให้ต่ำลงไป
เล็กน้อย กลบดินรอบลำต้นให้แน่น สำหรับระยะปลูกที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการเก็บเกี่ยวผลผลิต
เป็นสำคัญ หากจะปลูกเพื่อเป็นอาหารสัตว์ เพื่อทำเป็นเชื้อเพลิง เพื่อผลผลิตมวลชีวภาพ เพื่อทำไม้แปรรูป
หรือเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน ก็มีระยะปลูกต่างกันออกไป

จากการทดลองในไต้หวัน ปลูกกระถินยักษ์ใช้ระยะปลูก 1x1 เมตร – 0.25x0.25 เมตร เพื่อใช้ทำเชื้อเพลิงและอาหารสัตว์
ใช้ระยะ 2x2 เมตร และ 1.5x1.5 เมตร ตัดเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ สูงจากพื้นดิน 1 เมตร ตัดทุก 2 เดือน ให้ผลผลิตดีกว่า
ตัด 1, 3 และ 4 เดือน/ครั้ง และตัดเพื่อทำเชื้อเพลิง 3 เดือน/ครั้ง ให้ผลผลิตดีที่สุด

การปลูกกระถินยักษ์พันธ์ซัลวาเดอร์และเปรู ระยะปลูก 0.5x0.5 เมตร เพื่อเปรียบเทียบผลผลิตอาหารสัตว์ ศึกษา 1 ปี
พบว่า ตัดทุก 2 เดือน สูงจากพื้นดิน 60 เซนติเมตร พันธุ์ซัลวาเดอร์ให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์เปรู

   การปลูกกระถินยักษ์จากการทดลองปลูกในระยะต่าง ๆ พอสรุปได้ดังนี้

1) ปลูกเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ใช้ระยะ 5-10x75 เซนติเมตร หรือไม่กำหนดระยะปลูก

2) ปลูกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน พื้นที่ตามเชิงเขา ใช้ระยะปลูก 2-5x4 เมตร
    และถ้ามีการปลูกพืชแทรกใช้ระยะ 3-5x12-20 เมตร

3) ปลูกเพื่อเก็บเมล็ด ใช้ระยะปลูก 2x5 เมตร จะให้เมล็ดสูงสุด

4) ปลูกเพื่อทำไม้แปรรูปหรือไม้ซุง ใช้ระยะปลูก 2x10 เมตรแล้วตัดสางขยายระยะออกเป็น 4x10 เมตร  
    หรือ 6x10 เมตร

5) ปลูกเพื่อเป็นไม้ใช้สอยหรือไม้แปรรูปหรือไม้ซุงร่วมกันใช้ระยะปลูก 1x2 เมตร แล้วตัดสางขยาย
    ระยะออกเป็น 4x10 เมตร หรือ 6x10 เมตร

6) ปลูกเพื่อมวลชีวภาพ ไม่ควรปลูกใกล้กว่า 2x1 เมตร

ระยะการปลูก หากปลูกระยะถี่ ๆ จะมีผลทำให้ปริมาตรเปลือกเพิ่มขึ้น คือ ถ้าปลูกระยะ 2x2 เมตร จะมีปริมาตรเปลือก 5%
เมื่อปลูกระยะ 1x1 เมตร จะมีปริมาตรเปลือกเกือบ 10% เมื่อคิดจากน้ำหนักแห้งสำหรับค่าใช้จ่ายในการปลูกสร้างสวนป่า
ไม้กระถินยักษ์จะผันแปรไปตามวัตถุประสงค์ของการปลูก ซึ่งตัวแปรที่สำคัญ คือ ค่ากล้าไม้และการดูแลรักษา

การบำรุงรักษา

กระถินยักษ์ เป็นอาหารของสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ดังนั้น ในระยะแรกควรดูแลไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้าไป นอกจากนี้
หนูยังเป็นศัตรูที่สำคัญในการกัดต้นกล้า จึงควรดูแลรักษาพื้นที่ปลูกให้โล่งเตียน และดายวัชพืชสม่ำเสมอ ปลูกซ่อม
ต้นที่ตายทันที เพื่อให้เติบโตทันกัน ควรใส่ปุ๋ยบ้างตามความจำเป็น หากพื้นที่นั้นไม่อุดมสมบูรณ์ โดยใช้ปุ๋ยสูตร
15-15-15 อายุ 1 ปี ใช้ปุ๋ยประมาณ 100 กรัม/ต้น เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ก็ต้องตัดสางขยายระยะออกบ้าง
ตามวัตถุประสงค์หลักที่ปลูก ส่วนปัญหาโรคแมลงของกระถินยักษ์ในประเทศไทยยังไม่พบมากนัก

การเจริญเติบโต

ในประเทศไทย มีการทดลองปลูกกระถินยักษ์สายพันธุ์ซัลวาเดอร์ ที่สะแกราช อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
(อายุ 1.5 ปี) ได้ผลดังนี้

ระยะปลูก

(เมตร)

ความสูง

(เมตร)

เส้นผ่าศูนย์กลางเพียงอก

(เซนติเมตร)

ปริมาตร

(ม3/ไร่/ปี)

2x2

3.5

1.1

0.05

2x1

3.9

1.0

0.10

1x1

3.9

0.9

0.14

1x0.5

3.1

0.7

0.14

0.5x0.05

2.1

0.4

0.08

กระถินยักษ์สายพันธุ์ Kท่าพระ ซึ่งเป็นสายพันธุ์รวมซัลวาเดอร์ ปลูกที่ศูนย์วิจัยและจัดการเมล็ดพันธุ์ไม้ป่า
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ในดินทราย ปริมาณน้ำฝน 1,100-1,200 ม.ม./ปี ระยะปลูก 2x1 เมตร
อายุ 1.5 ปี มี ความสูงเฉลี่ย 2.99 เมตร และความโตที่ระดับ 10 เซนติเมตรจากโคนต้นเฉลี่ย 3.29 เซนติเมตร

การป้องกันโรคแมลงและศัตรูธรรมชาติ

ไม้กระถินยักษ์ที่ปลูกในประเทศไทยยังไม่พบโรคและแมลงต่าง ๆ มากนัก จะพบก็มีโรคใบเหลืองและเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร
อาจเกิดจากขาดธาตุอาหารบางอย่าง เช่น โบรอน ซัลเฟอร์ และโบลิปตินั่ม พบต้นตายไปเพราะโรครากเน่า เนื่องจาก
ดินระบายน้ำไม่ดี น้ำขังเป็นเวลานาน ๆ ส่วนโรคอื่น ๆ ยังไม่พบ ส่วนพวกสัตว์ป่าก็พบพวกหนูที่กัดต้นที่ปลูกใหม่ ๆ
ได้รับความเสียหาย

การป้องกันโรคและแมลง สำหรับโรคที่เกิดจากเชื้อรา โรคกล้าเน่า ก็สามารถป้องกันโดยใช้ยาเบนเลท 0.6% โรคเน่าคอดินใช้ยาฆ่าเชื้อรา บราสซิโคลฉีดพ่นในฤดูฝนทุก ๆ สัปดาห์ โรคใบจุดเกิดจากขาดธาตุอาหาร แก้โดยเติมปุ๋ย
ที่มีธาตุอาหารครบถ้วนลงไป เป็นต้นว่า ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม สังกะสี โบรอน และโบลิปตินั่ม
จะช่วยให้โรคใบจุดของกระถินยักษ์ลดลงได้ สำหรับสัตว์ป่าป้องกันโดยดายวัชพืชไม่ให้รกเพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่
อาศัยของหนูและกระต่าย

การใช้ประโยชน์

กระถินยักษ์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อเนกประสงค์ ทั้งใช้เป็นอาหารของคน สัตว์เลี้ยง ทำเชื้อเพลิง ทำฟืนถ่าน
ใช้ในการก่อสร้าง ช่วยปรับปรุงดิน สรุปได้ดังนี้

1) อาหาร ใช้เป็นอาหารของวัว ควาย แพะ แกะ เป็ด ไก่ พบว่า ที่ไนโตรเจน 36-47 กรัม/กิโลกรัม น้ำหนักแห้งของใบ
และมีโปรตีนดิบ 230-300 กรัม/กิโลกรัม น้ำหนักแห้งของใบ คนใช้ยอดอ่อนและฝักอ่อนรับประทาน เมล็ดใช้ปรุงอาหาร
เหมือนกับถั่วเขียว ใช้ทำเป็นแป้ง

2) ไม้แปรรูป ใช้ทำไม้แปรรูป ปาเก้ เสา มีความแข็งปานกลาง ไม้กระถินยักษ์อายุ 3 ปี มีค่าความหนาแน่น 0.66
กรัม/ซ.ม.3 มีความแข็งพอที่จะมีกำลังต้านแรงดึงแรงกดและแรงดัดโค้งได้ เนื้อไม้มีรายละเอียดง่ายต่อการตัดและเลื่อย

3) ทำเยื่อกระดาษ ไม้กระถินยักษ์มีลิกนินต่ำ แต่มีไฟเบอร์สั้นกว่าไม้สน กระดาษที่ทำจากไม้กระถินยักษ์มีความแข็งแรง
ต่อการฉีดขาดและการพับต่ำ แต่มีความแข็งแรงโดยเฉลี่ย มีกำลังต่อต้านแรงดึงมีความทึบสูง เหมาะสำหรับใช้
ประโยชน์ในการพิมพ์และเป็นกระดาษเขียน นอกจากนี้ยังสามารถผลิตเป็นแพรเทียมหรือกระดาษแก้วได้

4) ใช้ทำฟืน ไม้กระถินยักษ์ให้ค่าความร้อน 16,438.4 บีทียู/ก.ก. ใช้ฟืนกระถินยักษ์ 2.75 ก.ก.
จะมีค่าเท่ากับใช้ก๊าซเหลวเป็นเชื้อเพลิง 1 ก.ก. ซึ่งเท่ากับค่าความร้อน 45,265 บีทียู/ก.ก.

5) ใช้ทำถ่าน ถ่านจากกระถินยักษ์ให้ควันน้อย มีความร้อนสูง 7,250 คาลอรี่/ก.ก. (28,665 บีทียู/ก.ก.)
ในขณะที่น้ำมันให้ค่าความร้อน 10,000 คาลอรี่/ก.ก. (39,469.5 บีทียู/ก.ก.) ค่าความร้อนจากกระถินยักษ์จะมี
ความร้อนสูง 70% ของน้ำมัน

6) ใช้ทำแอลกอฮอล์ ราคาไม้จะต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซิน เมื่อใช้ไม้ผลิตแอลกอฮอล์แล้วจะได้ลิกนินเป็นผลพลอยได้
ประมาณ 30% ของน้ำหนักแห้งของไม้ ซึ่งทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น

7) ช่วยปรับปรุงดิน เนื่องจากเป็นพืชตระกูลถั่ว ทำให้เพิ่มไนโตรเจนในดิน ทำปุ๋ยพืชสด จากการทดลองที่อินโดนีเซีย
พบว่า กระถิน 1 ไร่ จะให้ N 88 ก.ก./ปี P2O5 36 ก.ก./ปี และ K2O 88 ก.ก./ปี นอกจากนี้ ร่มเงายังช่วยอนุบาลพืช
สวนบางชนิด เช่น กาแฟ มังคุด พริกไทย โกโก้ วานิลา เป็นต้น

8) ใช้ทำแนวกันไฟและกันลม

9) ใช้ทำแนวรั้ว ใบและกิ่งสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ด้วย

ดร.พิทยา  ได้ศึกษามวลชีวภาพและธาตุอาหารของกระถินยักษ์ อายุ 4 ปี เมื่อปลูกพืชควบที่จังหวัดศรีสะเกษ  ได้ผลดังนี้

ส่วนของพืช

มวลชีวภาพ

ตัน/ไร่/ปี

N

P

K

Ca

Mg

(ก.ก./ไร่)

ลำต้น

1.37

6.97

0.59

3.01

4.44

1.11

กิ่ง

0.16

1.30

0.11

0.48

1.28

0.88

ใบ

0.09

2.13

0.10

0.48

1.89

0.79

รวม

1.62

10.40

0.80

4.07

7.61

1.78

ข้อควรระวังในการปลูก

เนื่องจากใบกระถินมีส่วนประกอบของกรดอะมิโนที่มีมิโมชินเป็นสารที่มีพิษตกค้างในสัตว์ ถ้าให้กระถินมากกว่าครึ่ง
ของอาหารและให้สัตว์กินติดต่อกันมากกว่า 6 เดือนแล้ว ผลที่เกิดขึ้นสัตว์อาจมีอาการไม่สบาย มีการเจริญเติบโตช้า
ตามปกติมักจะพบในวัว ควาย ที่กินกระถินยักษ์เป็นอาหาร ใบของกระถินยักษ์ที่แตกออกมาจากการแตกหน่อใหม่ ๆ
จะมีเปอร์เซ็นต์มิโมชินสูงกว่าใบที่เกิดแก่ตามปกติ แต่มิโมชินในใบจะลดลง 50% เมื่อนำไปตากแดดหลังจากเก็บ
มาทันที และลดลง 2-9% โดยการล้าง การแช่น้ำ การต้ม และหมักกระถินยักษ์ มีการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติได้รวดเร็ว
และมีระบบรากลึก หากปลูกโดยไม่ใช้ประโยชน์ ปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นวัชพืชที่กำจัดยาก

 >>> [ 1 ] [ 2 ] [ 3 ] [ 4 ] [ 5 ] [ดูรายละเอียด]
 
Copyright © GREENCOUN.COM 2008 All rights reserved
20 ซอย รามคำแหง 170 แยก 3 แขวงมีนบุรี กรุงเทพมหานคร 10510
Tel : 02-917-4760-1 , 02 540 2048-9 Fax : 02-917-4761
Mobile : 091-795-3619

เช่าโฮส, hosting, ออกแบบเว็บไซต์,ไทยบางกอกโฮสท์